ในปัจจุบัน WordPress กลายมาเป็นตัวเลือกแรก ๆ สำหรับคนที่กำลังมองหาเครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ เนื่องด้วยเหตุผลหลักที่ว่า WordPress เป็นระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน มีธีม และปลั๊กอินให้เลือกใช้มากมาย ทำให้เราสามารถสร้างเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย นอกจากนี้ เรายังสามารถติดตั้ง WordPress ไปยังโฮสติ้งได้ง่าย และสามารถทำได้หลายวิธี
คำถามคือ หลังจากติดตั้ง WordPress เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราควรทำอะไรต่อ? แน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะสร้างบทความ และโพสต์บทความนั้นได้ทันทีหลังติดตั้ง แต่เราต้องมีการเตรียมระบบให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้ ต่อไปนี้คือรายการ ตั้งค่าเบื้องต้น WordPress 10 อย่างที่ควรทำหลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว
สารบัญ
ตั้งค่าเบื้องต้น WordPress
1. เปลี่ยน Username และ Password ในหน้า Admin Account
สิ่งแรก ที่ต้องทำทันทีหลังติดตั้ง (ดูวิธีการติดตั้ง WordPress บน local host) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เราใช้ auto-installer ที่โฮสติ้งจัดทำไว้ให้
เราจำเป็นต้องแก้ default username จาก “admin” ไปเป็นชื่ออื่น ที่ยากต่อการถอดรหัส และยากต่อการคาดเดา
หลังจากทำการเปลี่ยนชื่อ username แล้ว เราจำเป็นต้องตั้งรหัสผ่านที่มีความซับซ้อน ไม่ควรใช้ชื่อ เบอร์โทรติดต่อ วันเดือนปีเกิด เป็นรหัสผ่าน ให้เราใช้คำผสม ที่มีตัวอักษร สัญลักษณ์ และตัวเลขรวมกัน
2. ตั้งค่าทั่วไปต่าง ๆ ของ WordPress
ให้เรา log in เข้าไปยัง WordPress dashboard และคลิ๊กที่ Settings ที่อยู่ที่แถบเมนูด้านซ้าย จุดนี้เราสามารถตั้งค่าต่าง ๆ ของ WordPress ที่นอกเหนือจากค่ามาตรฐาน
ก่อนอื่น เราควรตัดสินใจเลือกชื่อเว็บไซต์ ที่จะสามารถบอก search engines และผู้ชมได้ว่า เว็บไซต์ของคุณนั้นเกี่ยวกับอะไร ซึ่งควรเป็นคำที่ง่าย ๆ เราแนะนำให้กรอก tagline ไปยังเว็บไซต์ ซึ่งจะไปแสดงในส่วนของ RSS feeds
หลังจากนั้น ให้เราเปลี่ยนเขตเวลา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะแสดงถึงเวลาที่จะแสดงบนเว็บไซต์ และมีผลต่อการตั้งเวลาโพสต์อัตโนมัติ
นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกรูปแบบวันและเวลาที่เหมาะสม เลือกวันเริ่มต้นของสัปดาห์
3. เลือกรูปแบบลิงก์ถาวร
ลิงก์ถาวร (permalink) เป็น URL ของหน้าบทความ หรือหน้าเพจ โดยค่ามาตรฐานของ WordPress นั้น จะเลือกรูปแบบลิงก์ถาวรที่ไม่ดีมาให้ เป็นแบบ “?p=xxx” ต่อท้ายชื่อโดเมน แน่นอนว่าลิงก์ถาวรชนิดนี้นั้น ไม่ส่งผลดีต่อ SEO แต่อย่างใด และยังส่งผลเสียเวลาที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณอีกด้วย ในกรณีนี้ เราควรเปลี่ยนรูปแบบ ไปเป็นแบบที่เหมาะสมกว่าคือ แบบที่เราสามารถใส่คีย์เวิร์ดสำคัญลงไปในลิงก์ถาวรได้ ดังภาพ
เพียงเข้าไปที่ Settings เลือก ลิงก์ถาวร จะมี 6 รูปแบบให้เราเลือก ให้เราเลือกไปที่ ชื่อเรื่อง ซึ่งเป็นรูปแบบที่แนะนำครับ
หมายเหตุ ขั้นตอนสำคัญนี้ ควรทำก่อนที่จะมีการตีพิมพ์บทความใด ๆ เพราะหากตีพิมพ์บทความก่อน จะทำให้เรามี 404 page error เกิดขึ้นได้ หากเราไม่ทำการตั้งค่า 301 Redirection
4. ลบเนื้อหา Default Dummy Contents ทั้งหมดออก
หากคุณเพิ่งเริ่มต้นใช้งาน WordPress เราจะพบตัวอย่างโพสต์ ตัวอย่างเพจต่าง ๆ ความคิดเห็น เนื้อหา ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับเว็บไซต์ของเรา ในกรณีนี้ เราควรทำการลบออก จากหน้า admin panel
นอกจากนี้ โฮสติ้งบางค่าย อาจมีการติดตั้งวิดเจ็ตเพิ่มเติม แสดงข้อความโฆษณาต่าง ๆ ให้เราทำการลบออกเสียทั้งหมด
5. กรอกข้อมูลของผู้ใช้
ขั้นตอนนี้นักพัฒนาเว็บไซต์ส่วนมากมักจะละเลยกัน ถ้าเป็นไปได้ เราควรสละเวลาเล็กน้อยในการกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไป รายละเอียดมี ชื่อ อีเมลล์ Social network ต่าง ๆ
นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้งค่าที่เราอยากแสดง ในเวลาที่เราเขียนความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรใช้เป็นชื่อเดียวกับชื่อ Admin แต่ควรเลือกเป็นนามปากกาอื่น ๆ เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของเว็บไซต์
6. เปลี่ยน Favicon ของเว็บไซต์เสียใหม่
คุณสามารถเลือกแสดง Favicon ของเว็บไซต์ได้ โดย favicon นี้เป็น icon ของเว็บไซต์ ที่จะแสดงในแถบค้นหาด้านบนของ browser ติดกันกับชื่อหน้าเว็บ หากผู้คนเปิดเพจหลายเพจบน browser ในเวลาเดียวกัน จะทำให้ง่ายต่อการค้นหาหน้าเว็บของเรา
ในกรณีนี้ หลังจากทำการติดตั้ง WordPress แล้ว คุณควรทำการเปลี่ยน favicon เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ favicon ที่ดี ควรเป็นไฟล์ชนิด .icon ที่มีขนาด 16×16 px หรือ 32×32 px และมีขนาดเล็ก
7. เลือกหน้า ที่จะใช้เป็นหน้า Home หรือหน้าหลัก
โดยปกติ เราจะมีสองทางเลือกในการแสดงหน้าหลัก อย่างแรกคือ เราทำการเลือกหน้า blog (เรื่อง) หรือเราอาจทำการออกแบบหน้าหลักโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถตั้งค่าในส่วนของการตั้งค่าการอ่านใน WordPress
8. ลบธีมที่ไม่ได้ใช้ออกไปเลย
ธีมที่ติดมาหลังจากติดตั้ง WordPress นั้น ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้ใช้มันเลย ธีมกลุ่มนี้ได้แก่ Twenty Seventeen, Twenty Eighteen และ Twenty Nineteen หากคุณไม่ได้เลือกใช้ธีมเหล่านี้ และเลือกใช้ธีมอื่น ๆ ที่มีดีไซน์สวยงามและเหมาะสมกว่า คุณควรลบธีมกลุ่มนี้ออกเสีย
มิเช่นนั้นแล้ว ธีมเหล่านี้ อาจมีการร้องขอให้ทำงานอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ และอาจส่งผลกระทบกับระบบความปลอดภัยในเว็บไซต์ของคุณได้อีกด้วย
ซึ่งการลบธีมเหล่านี้ออกไปจากระบบ ทำได้ไม่ยาก และใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที เพียงแค่เราเข้าไปที่ รูปแบบเว็บ จากนั้นคลิ๊กที่ ธีม และมองหาธีมที่เราไม่ได้ใช้ จากนั้นกดปุ่มลบ
9. เชื่อมต่อ WordPress กับ Google Analytics
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการที่เราจะติดตามประสิทธิภาพของเว็บไซต์ ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ traffics แหล่งที่มาของ traffics ในหลายแง่มุม นอกจากนี้เรายังสามารถวิเคราะห์ keywords เลือกเวลาที่เหมาะสมในการตีพิมพ์บทความ และวางแผนการตลาดอื่น ๆ
10. ติดตั้งปลั๊กอินพื้นฐานอื่น ๆ
เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนสุดท้ายที่เราควรทำ ก่อนเริ่มเขียนบทความ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเล็กน้อย การเลือกปลั๊กอินที่เหมาะสมนั้น ใช้เวลาพอสมควร ถึงแม้ว่าการติดตั้งปลั๊กอินจะง่าย เพียงคลิ๊กเดียว แต่การตั้งค่าเบื้องต้น WordPress ต่าง ๆ นั้น ต้องใช้เวลา ก่อนจะเริ่มใช้งานได้ในทางปฏิบัติ
ต่อไปนี้คือรายการปลั๊กอิน ที่แนะนำให้ติดตั้ง ซึ่งแต่ละตัวนั้น มีประโยชน์ในการทำงานที่แตกต่างกัน
• Yoast SEO – เป็นปลั๊กอินหลักที่สามารถช่วยคุณในการปรับปรุงคุณภาพในการทำ SEO ให้ได้อันดับที่สูงขึ้น ปลั๊กอินนี้ช่วยให้คุณสามารถกำหนด meta descriptions, SEO titles และ keywords ต่าง ๆ สำหรับบทความ และหน้าเพจทุกชนิด นอกจากนี้ยังสามารถส่งรายงานสรุปวิเคราะห์ SEO ให้เราคิด และปรับปรุงเนื้อหาอย่างถูกทาง
• WP Fastest Cache – เป็นปลั๊กอินสำหรับ Caching จัดการกับหน่วยความจำระบบ ติดตั้งง่าย ใช้งานก็ง่าย และที่สำคัญ ฟรี ทำให้คุณสามารถเพิ่มความเร็วของเว็บไซต์ได้อีกหลายระดับ
• Sucuri Security – เป็นปลั๊กอินสำหรับเพิ่มความปลอดภัยของระบบ ช่วยปกป้องเว็บไซต์ WordPress ของคุณ จาก malware และป้องกันการ hack ข้อมูลได้เป็นอย่างดี ใช้งานฟรีอีกด้วย
หมายเหตุ ที่ยกตัวอย่างมาเพียงเท่านี้ เป็นปลั๊กอินพื้นฐานสำหรับการตั้งค่าเบื้องต้น WordPress เท่านั้น ปลั๊กอินอื่น ๆ ควรติดตั้งตามความจำเป็นของแต่ละเว็บ เทคนิคคือ เราควรติดตั้งเฉพาะปลั๊กอินที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรติดตั้งปลั๊กอินมากจนเกินไป การที่เรามีปลั๊กอินมากจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพโดยรวมของเว็บไซต์